top of page

สินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าชุมชน

เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI

ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย คืออะไร
   คือ ตราของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้า GI
เพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้
โดยต้องปฏิบัติตามคู่มือและแผนการควบคุมนั้นแล้ว

gi.png

สิ่งที่อยากบอกต่อ

"จากใจชาวเกษตรกรบ้านคา"

    เกษตรกรจังหวัดราชบุรี นิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีชื่อเรียกในท้องถิ่นแตกต่างกัน เช่น สับปะรดศรีราชา สับปะรดปราณบุรี สับปะรดสามร้อยยอด สับปะรดสวนผึ้ง (บ้านคา) ฯลฯ มีรสหวานฉ่ำไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียด หนานิ่ม มีตาค่อนข้างตื้น เมื่อปอกเปลือกแล้วตาผลจะติดออกไปกับเปลือก สับปะรดผลสดที่เป็นชนิดหวานรับประทานกันทั่วไปด้วยเทคนิควิธีปลูกเพื่อส่งโรงงานทำสับปะรดกระป๋อง ทำให้รสชาติไม่หวานจัด เหมาะกับคนที่ควบคุมระดับน้ำตาล และยังมีวิตามินซี สูงมาก

    สับปะรดบ้านคาที่มีชื่อเสียงได้รับการรับรอง GAP (Good Agriculture Product) และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (Geographical Indication) ตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนใหญ่มีการปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านคา  อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง เนื่องจากความพิเศษของสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อนำดินไป วิเคราะห์ พบว่า ดินเป็นชุดดินจันทึก มีธาตุภูเขาไฟ ทำให้สับปะรดหวาน มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนสับปะรดพื้นที่ปลูกอื่น ๆ จึงเป็นเครื่องหมายรับรอง

คุณภาพของผลผลิตสับปะรดจากจังหวัดราชบุรี แต่กลับพบปัญหา ความผันผวนของราคาจากผลผลิตที่มีวงรอบออกมาพร้อมกันจนเกิด สภาวะล้นตลาด

คุณภาพ ชื่อเสียง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า

"คำนิยาม"

สับปะรดบ้านคา (Bankha Pineapple) หมายถึง สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย รสหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดหนานิ่ม มีตาผลค่อนข้างตื้น เมื่อปอกเปลือกแล้วตาผลจะติดออกไปกับเปลือก ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี

"ลักษณะของสินค้า"

(1) พันธุ์สับปะรด : พันธุ์ปัตตาเวีย

(2) ลักษณะทางกายภาพ

   -รูปทรง  ผลขนาดใหญ่จะเป็นทรงกรวย คือส่วนโคนผลมีความกว้างมากกว่าส่วนปลายผลขนาดกลางและเล็ก จะมีรูปทรงกระบอก 

    คือส่วนโคนและส่วนปลายผลมีความกว้างใกล้เคียงกัน น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 1 - 3 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 2.2 กิโลกรัม

   -ใบ  มีสีเขียวเข้มและเป็นร่องตรงกลาง ผิวใบด้านบนเป็นมันเงา ส่วนใต้ใบจะมีสี ออกเทาเงิน ตรงบริเวณกลางใบมีสีแดงอมน้ำตาล

   -ตา  ค่อนข้างตื้น

   -เนื้อ ละเอียด หนานิ่ม สีเหลืองสวย

   -รสชาติ หวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม

 

กระบวนการผลิต

"การปลูก"

(1) มีทั้งปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว และปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพารา เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชที่ ไม่ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตมากนัก ปลูกได้ตลอดทั้งปี การปลูกในฤดูฝน ต้องฝังหน่อให้เอียง 45 องศา เพื่อป้องกันน้ำขังในยอด แต่ถ้าปลูกในฤดูแล้งฝังหน่อให้ตั้งตรง การปลูกส่วนใหญ่ใช้ระบบแถวคู่ ระยะปลูก แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

(2) สับปะรดบ้านคาเป็นพืชหลายฤดู จึงต้องเตรียมพื้นที่ปลูกอย่างดีให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยพื้นที่ที่เคยปลูกสับปะรดให้สับใบและต้นสับปะรดแล้วตากทิ้งไว้ 2 - 3 เดือน หลังจากนั้นไถดิน ตากดินทิ้ง ไว้ 7- 10 วัน แล้วพรวนดินอีก 1 ครั้ง แล้วคราดเศษรากเง้า ตอเก่าสับปะรดและวัชพืชทุกชนิดที่เหลือออกไป ทำลายนอกแปลง ทำแนวปลูกหรือยกแนวให้สูงประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดิน

(3) การเตรียมพันธุ์ มีการตัดขนาดหน่อพันธุ์และจุกพันธุ์ก่อนปลูก โดยใช้หน่อพันธุ์และ/หรือจุกพันธุ์ ที่มีขนาดสม่ำเสมอ หรือใกล้เคียงกัน อัตราการปลูก 7,000 - 10,000 หน่อ/ไร่

(4) การให้น้ำ โดยใช้น้ำฝนที่ตกสม่ำเสมอทั้งปี หากในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง มีการให้น้ำต้นสับปะรดที่กำลังเจริญเติบโต และหยุดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 15 - 30 วัน

"การเก็บเกี่ยว"

(1) สับปะรดจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อต้นมีอายุ 8 เดือน - 1 ปี ขึ้นไป และจะให้ผลผลิตได้ 3 - 4 ปี จะเก็บเกี่ยวหลังออกดอก 150 วัน หรืออาจมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

(2) การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวพร้อมจุกและก้าน โดยเก็บเกี่ยวผลสับปะรดที่ร่องตาดึงเต็มที่ ก้านผลแห้ง ตาด้านล่างของผลเปิดมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ตา สับปะรดแก่ต้องมีเนื้อ สีเหลือง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความยาวผล

 

"การบรรจุหีบห่อ"

รายละเอียดบนฉลากให้ประกอบด้วยคำว่า “สับปะรดบ้านคา” และ/หรือ “Bankha Pineapple” และ หรือ “Sapparot Bankha”

ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์

"ลักษณะภูมิประเทศ"

     อำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง และอำเภอปากท่อ เป็น 4 อำเภอในจำนวน 10 อำเภอ ของจังหวัดราชบุรี ที่มีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกันจัดอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงและพื้นที่ราบสูง ความสูงของ พื้นที่โดยเฉลี่ยสูงกว่าระดับน้ำทะเล 200 - 1,400 เมตร ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ เนื่องจากมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นอยู่จึงทำให้ได้รับลมมรสุมจากอินเดีย และทะเลอันดามันไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่ เป็นฝนช่วงปลายฤดูฝนที่มาพร้อมกับร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกชุกในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000 - 1,250 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13 - 38 องศา เซลเซียส แต่ในฤดูหนาวบริเวณเชิงเขาหรือหุบเขาจะมีสภาพอากาศหนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 8 - 15 องศา เซลเซียส ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด-ด่างของดิน 4.5 - 5.5 จากสภาพภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศดังกล่าวส่งผลให้การปลูกสับปะรดได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ด้วย รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์จึงทำให้สับปะรดบ้านคา มีความแตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น

"ประวัติความเป็นมา"

      การปลูกสับปะรดบ้านคา เริ่มจากเกษตรกรจากอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ย้าย การตั้งถิ่นฐานและขยายพื้นที่ปลูกสับปะรด โดยนำหน่อพันธุ์สับปะรดปัตตาเวียจากอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาปลูกในเขตพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคาในปัจจุบัน) ในช่วงนั้นจึงนิยมเรียกว่า “สับปะรดสวนผึ้ง” แต่เนื่องจากอำเภอสวนผึ้งมี อาณาเขตกว้างขวางและมีประชากรมาก กระทรวงมหาดไทยจึงได้แบ่งท้องที่อำเภอสวนผึ้งตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านคาและยกฐานะเป็นอำเภอบ้านคาตามลำดับ พื้นที่ผลิตสับปะรดส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านคา ทำให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “สับปะรดบ้านคา" คือ ของดีของจังหวัดราชบุรี จัดเป็นพืช เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี รองจากข้าว และอ้อย ด้วยคุณภาพ รสชาติ และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ “สับปะรดบ้านคา” เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจำนวนมาก

"ขอบเขตที่ตั้งแหล่งภูมิศาสตร์"

       ขอบเขตการปลูกสับปะรดบ้านคา ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดราชบุรีใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา 

"เงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 15"

       (1)  จัดให้มีระบบการตรวจสอบและควบคุมทั้งกระบวนการผลิต ในระดับผู้ผลิตและระดับจังหวัด

       (2) จัดให้มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรผู้เพาะปลูก และผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดบ้านคา

       (3) ผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดบ้านคา

"การพิสูจน์แหล่งกำเนิด"

      (1) สับปะรดบ้านคาต้องมีการปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอ บ้านคา

         ตามกระบวนการผลิตข้างต้น

      (2) กระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบ คือมีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ปลูกสับปะรดบ้านคา

          รวมทั้งต้องมีเอกสารกำกับเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้

ไร่สัปรด-05.png
ไร่สัปรด-05.png

สนับสนุนโดย

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี

Tel. 032-721003

LOGO-01 ขาว.png
bottom of page